หากพูดถึงคำว่า “ร้านเกม” คุณผู้อ่านทุกท่านจะนึกถึงอะไรกันบ้างคะ อาจจะเป็นร้านเกม ตู้อาร์เคด ร้านเกม สำหรับเล่นเครื่องเกมเพลย์สเตชั่นรุ่นต่างๆ หรืออย่างร้านเกมที่เราจะมาพูดถึงกันในวันนี้ซึ่งก็คืออินเตอร์เน็ตคาเฟ่นั่นเองค่ะ อินเตอร์เน็ตคาเฟ่ หรือที่ทุกคนเรียกกันจนติดปากว่าร้านเกม แม้แต่ตัวผู้เขียนเองก็เคยโดดเรียนพิเศษไปนั่งเล่นออดิชั่นเหมือนกันค่ะ(เด็กๆห้ามทำตามนะ) แต่อะไรกันล่ะ ที่ทำให้ร้านเกมเกิดเป็นปรากฎการณ์ อะไรทำให้ร้านเกมในไทยเป็นที่นิยมได้มากขนาดนั้น ประสบการณ์ในร้านเกมเป็นอย่างไรกัน ที่ถึงขนาดทำให้ผู้เล่น บางครั้งก็เลือกที่จะไปเล่นที่ร้านแทนการเล่นที่บ้าน และอะไร ที่ทำให้ร้านเกมซึ่งเคยเป็นที่นิยมอย่างมากเมื่อครั้งอดีต กลับเริ่มค่อยๆปิดตัวลงในปัจจุบัน วันนี้เรามาทำความเข้าใจไปพร้อมๆกันค่ะ
หากจะให้พูดถึงจุดเริ่มต้นของร้านเกม หรือ อินเตอร์เน็ตคาเฟ่ หรือ ร้าน นวด ตัวผู้เขียนคงบอกไม่ได้ (เพราะอาจเกิดไม่ทัน) แต่หากจะพูดถึงยุคสมัยที่ร้านเกมเฟื่องฟูมากๆ ก็ต้องย้อนกลับไปสมัยเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ในเวลานั้นจำนวนร้านเกมมีมากไม่ต่างกับปริมาณร้านสะดวกซื้อในปัจจุบันเลยทีเดียวค่ะ ซึ่งตลอดระยะเวลานั้น ร้านเกม ได้มอบประสบการณ์ต่างๆมากมายให้กับผู้เล่น ไม่ว่าจะเป็นความทรงจำที่ดี หรือบางครั้งก็น่าหงุดหงิด แต่ไม่ว่าอย่างไรสิ่งเหล่านี้ก็คือสิ่งที่ทำให้ร้านเกม เป็นอย่างที่มันเป็นค่ะ
ประสบการณ์ที่ได้จากร้านเกม

1. สถานที่ชุมนุมหลังเลิกเรียน
หากโรงเรียนคือบ้านหลังที่สอง บ้านหลังที่สาม ที่เหล่าเกมเมอร์จะได้มาเจอกันหลังเลิกเรียกก็คงเป็นร้านเกมนั่นเองค่ะ และนอกจากหลังเลิกเรียนแล้ว บางครั้งเกมเมอร์ก็เลือกที่จะออกมาเล่นที่ร้านเกมในวันหยุด เพราะนอกจากจะมีเกมให้เล่นแล้ว ร้านเกมยังเป็นเหมือนสถานที่พบปะชุมชนของเหล่าเกมเมอร์ประเภทเดียวกัน เล่นเกมเดียวกัน ที่มีความชอบใกล้เคียงกัน หรืออาจได้เจอเพื่อนใหม่ที่เล่นเกมเดียวกัน นับเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำอย่างหนึ่งที่เดียวค่ะ
2. เจ้าของร้านกับ playlist เพลงของเขา
อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของร้านเกมคือการเปิดเพลงโดยเจ้าของร้านค่ะ อันที่จริง เจ้าของร้านอาจจะแค่เปิดให้ตัวเองฟัง แต่ก็ทำให้เหล่าเกมเมอร์ได้ฟังไปด้วย ไม่ว่าจะอยากฟังหรือไม่ก็ตาม โดยเฉพาะสมัยนั้นที่ร้านเกมบางร้านยังไม่มีหูฟังให้ใช้ บางคนที่ทนเพลงของเจ้าของร้านไม่ได้ก็ถึงกับต้องซื้อหูฟังไปใช้เองกันเลยทีเดียวค่ะ แต่บางครั้งผู้เขียนเองก็ได้รู้จักเพลงเพราะๆจากที่คุณเจ้าของร้านเกมเขาเปิดนี่แหละค่ะ
3. ไม่มี social network มีแต่เว็บบอร์ดเท่านั้น
ในยุคที่โซเชียลเน็ตเวิร์คที่แพร่หลายที่สุดในไทยยังเป็น Hi-5 และ msn สิ่งที่เกมเมอร์ใช้แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร หรือแค่สื่อสารกัน ก็คือเว็บบอร์ดนั่นเองค่ะ ในเว็บบอร์ดก็จะมีการสนทนาแลกเปลี่ยนที่หลากหลาย ไปจนถึงคนทะเลาะกัน เกิดเป็นดราม่าในเว็บบอร์ดก็มีเช่นเดียวกัน แม้ว่าโซเชียลเน็ตเวิร์คอย่าง Facebook จะยังไม่แพร่หลายในยุคนั้น แต่เมื่อเทียบกันแล้ว ความดุเดือดของเว็บบอร์ด บวกบรรยากาศในร้านเกม เรียกได้ว่าดุเดือดไม่แพ้โซเชียลเน็ตเวิร์คในปัจจุบันเลยค่ะ
4. เด็กเกาะเบาะ ไลฟ์โค้ชแห่งวงการร้านเกม
ข้อนี้ ผู้เขียนเชื่อว่าผู้อ่านที่เป็นเกมเมอร์ทุกคน ถ้าไม่ได้เคยเจอ ก็อาจจะเคยเป็น อย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอนค่ะ น้องๆเด็กๆที่เข้ามาในร้าน แล้วระหว่างที่รอเครื่องว่าง น้องๆเด็กๆเหล่านี้ก็จะเดินไปเดินมา ดูคนอื่นเล่นไปเรื่อยๆ หากแต่น้องๆเขาไม่ได้ดูเปล่า แต่เข้ามาช่วยเล่นด้วยนี่แหละค่ะ เข้ามาบอกว่า ให้ทำแบบนั้นสิ ทำแบบนั้นสิ ราวกับกำลังขับรถแล้วมี GPS ที่จะปิดก็ปิดไม่ได้อยู่ด้วยตลอดเวลาเลยค่ะ และไม่ใช่ GPS ธรรมดา เพราะบางครั้งน้องๆเหล่านี้อาจถึงครั้งแย่งเมาส์ไปเล่นเองกันเลยทีเดียว อาจเป็นประสบการณ์ที่ไม่น่าจดจำนัก หากผู้อ่านได้เข้าไปเล่นร้านเกม และได้พบเจอกับน้องๆเด็กเกาะเบาะแบบนี้ ช่วยกันตักเตือนตามความเหมาะสมนะคะ
5. การต่อเวลาแบบยืดหยุ่นได้
ด้วยความที่การเข้าใช้บริการร้านเกมในสมัยนั้น ยังใช้ทุกอย่างเป็นแบบแมนนวลทั้งหมดค่ะ เมื่อต้องการเข้าเล่น ก็แค่บอกเจ้าของร้านแล้วลงบันทึกเวลาในสมุด ว่าเริ่มกี่โมง จนถึงกี่โมง เมื่อหมดเวลา เครื่องจะไม่ได้ตัดการให้บริการไปเลย แต่จะเป็นเจ้าของร้านเองนั่นแหละค่ะ ที่จะเข้ามาบอกผู้เล่นว่าหมดเวลาแล้ว แต่ในบางครั้ง แม้เวลาหมด แต่เกมยังไม่จบ แบบนี้ก็แย่สิ จริงไหมคะ และด้วยความที่ทุกอย่างเป็นแบบแมนนวล จึงมีบ้างที่บางครั้งเจ้าของร้านจะหยวนๆให้ ต่อเวลาสักหน่อยให้จบเกมนั้นแล้วค่อยลุกก็ได้
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ร้านเกมในยุคนั้นเฟื่องฟูไม่แพ้กับร้านกาแฟในยุคนี้เลยทีเดียวค่ะ แต่แล้วมันเกิดอะไรขึ้น ทำไมร้านเกมถึงได้รับความนิยมน้อยลง และค่อยๆเริ่มที่จะหายไปในปัจจุบัน หากสังเกตจากสังคมการเล่นเกมในปัจจุบัน ก็พอจะกะเทาะออกมาได้เป็นเหตุผลดังต่อไปนี้ค่ะ
สัญญาณการเลือนหายของร้านเกม

1. คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต เข้าถึงง่ายมากๆ เมื่อเทียบกับสิบกว่าปีก่อน
ในปัจจุบัน เกือบทุกบ้านที่มีเกมเมอร์ มีอุปกรณ์เล่นเกมเป็นของตัวเอง เพราะทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน ไปจนถึงคนทำงาน ก็ล้วนต้องใช้คอมพิวเตอร์ในชีวิตประจำวันกันทั้งสิ้น เมื่อทุกบ้านมีคอมพิวเตอร์ การเล่นเกมอยู่บ้านก็นิยมมากขึ้น ส่วนสังคมก็ไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะห่างหายกันไป เพราะนอกจากมีเกมเป็นของตัวเองที่บ้านแล้ว เหล่าเกมเมอร์ยังมีโปรแกรมที่เอาไว้ใช้พูดคุยสื่อสารกันระหว่างเล่นเกมอีกด้วย
2. การพัฒนาของเกมและอุปกรณ์อย่างก้าวกระโดด
หากจะให้พูดถึงข้อนี้อย่างเฉพาะเจาะจง คงหนีไม่พ้นโทรศัพท์มือถือ หรือ สมาร์ทโฟน ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เกมเมอร์บางส่วนย้ายจากการเล่นเกมบนคอมพิวเตอร์ไปเล่นบนมือถือกันมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงของอุปกรณ์เล่นเกมนี้ทำให้ผู้เล่นเกมสามารถเข้าถึงเกมได้แทบจะตลอดเวลา ส่งผลให้การดูแลค่าใช้จ่ายของร้านเกมนั้นยากขึ้น และกำไรลดลงอีกด้วยค่ะ
แม้ว่าร้านเกมจะปิดตัวลงไปเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าประสบการณ์เหล่านี้เป็นความทรงจำดีๆที่เคยเกิดขึ้น ในปัจจุบันร้านเกมก็ยังมีเปิดให้บริการอยู่บ้าง ก่อนที่จะหายไป เย็นนี้ ไปร้านเกมกันค่ะ